ก้าวย่างในความทรงจำ : จุดหมายไม่ใช่สิ่งสำคัญของการเดินทาง

อลัน คริสตอฟเฟอร์สัน น่าจะเป็นชายหนุ่มอายุไม่ถึงสามสิบปีที่น่าอิจฉาที่สุดในโลก ไม่ใช่เพียงเพราะบริษัทโฆษณาของเขาที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม  หรือเพราะบ้าน รถ และทรัพย์สินอันหรูหราต่าง ๆ แต่ยังรวมถึง แม็คเคล คนรักที่อยู่เคียงข้างและสร้างอนาคตร่วมกันมาโดยตลอด  แต่แล้วชะตาก็พลิกผัน เมื่ออลันต้องสูญเสียทุกอย่างไปในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งบริษัทที่ถูกโกง บ้านและรถที่ถูกยึด รวมทั้งภรรยาที่มาเสียชีวิตในช่วงเวลาที่ทุกอย่างย่ำแย่ถึงขีดสุด อลันตัดสินใจทิ้งความทรงจำไว้เบื้องหลัง  และออกเดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ ตอนนั้นเองที่เขาพบว่าโลกนี้ช่างกว้างใหญ่และชีวิตใหม่ของเขาเพิ่งเริ่มขึ้น
.

52cb73bf3de4c_XXL

.

ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของนวนิยายเรื่อง “ก้าวย่างในความทรงจำ” ที่บอกเล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่พบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต อันเป็นมูลเหตุให้เขาออกเดินทางด้วยสองขาของตนเองเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง ซึ่งในตอนแรกเขาคงคิดว่าแค่ไปให้พ้นจากที่ ๆ มีความทรงจำเดิมของตนเท่านั้นเอง  แต่ยิ่งเดินก็ยิ่งพบอะไรหลายอย่างที่ทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

.
อย่างแรก อลันได้มีโอกาสทบทวนความทรงจำต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา  ทั้งความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  กับความสูญเสียที่มาอย่างฉับพลันเหมือนไฟไหม้บ้าน เหลือเพียงซากปรักหักพังให้โหยหาและสะเทือนใจ ฉะนั้น การมีเวลาได้อยู่กับตนเองทำให้ความคิดของเขาค่อย ๆ ตกผลึก สะท้อนผ่านข้อความต่าง ๆ ที่ปรากฏในสมุดบันทึกของเขา ดังเช่นส่วนหนึ่งที่ปรากฏตอนต้นเรื่องว่า

.

…สวนอีเดนคือต้นแบบสำหรับทุกคนที่เคยสูญเสีย ซึ่งก็คือมวลมนุษยชาติทั้งหมดน่ะแหละ

การมีอยู่ก็คือการสูญเสีย  เช่นเดียวกับมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะตายไป  แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังอิจฉาแอดัมนะ

เพราะถึงแม้เขาจะสูญเสียอีเดนไป  เขาก็ยังมีอีฟของเขาอยู่ …

(หน้า 12)

.

การยกเรื่องราวของแอดัม อีฟ สวนอีเดน และพระเจ้ามักพบได้เสมอในนวนิยายของชาติตะวันตก  ทำนองเดียวกับเวลาที่เราอ่านนวนิยายไทย  แล้วพบเห็นเรื่องราวทำนองบาปบุญคุณโทษ กฎแห่งกรรม และพุทธศาสนาฉันใดก็ฉันนั้น  สำหรับเรื่องของอลันแล้ว ความคิดเรื่องความเชื่อที่มีต่อพระเจ้าของเขาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อยจากการเดินทางครั้งนี้ ดังจะสังเกตว่านวนิยายหรือหนังจากชาติตะวันตกมักจะชอบเล่นกับเรื่องความเชื่อทางศาสนา เรามักพบว่าตัวละครจะแสดงออกในทำนองเคลือบแคลงหรือสงสัยต่อการมีอยู่ของพระเจ้าเสมอ  ตัวเอกของเรื่องนี้ก็เช่นกัน  ในช่วงเวลาที่แม็คเคลป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลรอบสองนั้น อลันได้คุกเข่าอ้อนวอนเพื่อขอชีวิตเธอต่อพระเจ้าในห้องน้ำสาธารณะ  แต่ภาษาที่ใช้ในตอนนี้ค่อนข้างเสียดสีการมีอยู่ของพระเจ้าอย่างรุนแรง  ดังจะเห็นจากที่ผู้เขียนบรรยายเหตุการณ์ตอนดังกล่าวว่า

.

… “พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระองค์ฟังอยู่  ลูกจะยอมมอบทุกสิ่งทุกอย่างให้  ขอเพียงแต่พระองค์

ทรงละเว้นชีวิตของเธอ  ลูกขอวิงวอนอย่าได้พรากเธอไปจากลูกเลย  ผมคุกเข่าต่อไปอีกสิบนาที

จนกระทั่งใครบางคนลองเปิดประตู

                                              เราสามารถแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนยิ่งกว่านี้ได้อีกสักเพียงใด  ผมคิด คุกเข่าอยู่บนพื้น

                                  ห้องน้ำสาธารณะนี่นะ พระเจ้าคงได้ยินคำภาวนาของฉันแน่ละ แต่ความจริงก็คือ ผมรู้สึกเหมือนผม

กำลังสวดภาวนาต่อความว่างเปล่า ผมอาจสวดภาวนาต่อโถปัสสาวะก็ได้ …

(หน้า 90-91)

.

จะเห็นว่าภาษาในตอนนี้ ผู้เขียนให้อลันไม่เชื่อการมีอยู่ของพระเจ้า จากการยกเอาของต่ำอย่างโถปัสสาวะมาเทียบกับสิ่งสูงส่งอย่างพระเจ้า  ก็ยิ่งนำให้ยิ่งเห็นภาพความแตกต่างอย่างสุดขั้ว และทำลายความน่าเชื่อถือของพระเจ้าอย่างแสบ ๆ คัน ๆ  อย่างไรก็ตาม  แอลลี่คือตัวละครที่เข้ามาระหว่างการเดินทาง และเธอก็ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องพระเจ้าแก่อลัน ดังที่แอลลี่ถามเขาว่า

.

…  “คุณเชื่อในพระเจ้าไหม”

“มีข้อสงสัยอยู่” ผมบอก

“แล้วมีคำตอบไหม”

“เอาเป็นว่าผมโกรธพระองค์มากเกินกว่าที่จะไม่เชื่อน่ะ”

“คุณโทษพระเจ้าสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณหรือคะ”

“อาจจะใช่ คงใช่แหละ”

เธอนิ่วหน้า และผมมองออกเลยว่าสิ่งที่ผมพูดทำให้เธอไม่สบายใจ “ผมไม่ตั้งใจทำให้คุณ

เสียความรู้สึกหรอกนะ”

“เปล่าหรอกค่ะ ฉันแค่นึกสงสัยว่าทำไมเราถึงโทษพระเจ้าสำหรับทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องดี…”

(หน้า 203)

.

แม้นวนิยายจะไม่ได้บอกว่าอลันยอมรับพระเจ้าหรือไม่ แต่น้ำเสียงของการเล่าเรื่องก็ค่อนไปในทางบวกมากขึ้น จนกระทั่งตอนท้ายเรื่องที่บอกไม่ได้ว่ามันคือความฝันหรือปาฏิหาริย์ แต่ก็นำไปสู่บทสรุปของเรื่องที่น่าประทับใจ

.

ถึงตอนจบจะไม่ยากเกินคาดเดา แต่ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ระหว่างการเดินทางของตัวเอกมากกว่า  คล้าย ๆ ที่ใครบางคนเคยพูดเอาไว้ว่า สิ่งสำคัญของการเดินทางไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นอะไรที่เราได้ระหว่างทางต่างหาก

.

n343124

.

“ก้าวย่างในความทรงจำ” แปลจากเรื่อง The Walk ของ ริชาร์ด พอล เอแวนส์ (Richard Paul Evans) สำนวนภาษาไทยโดย ปัทมา อินทรักขา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2557 โดยแพรวสำนักพิมพ์ ยังพอหาได้ตามร้านหนังสือทั่วไป

, ,

  1. ใส่ความเห็น

ใส่ความเห็น