ถอดบทเรียน “อสรพิษวิทยา” จากสารคดี World’s Deadliest Snakes


แปลกแต่(ไม่เกิน)จริงที่คนกลัวผีจะชอบดูหนังผี  เช่นเดียวกับผม … คนที่กลัวงู แต่กลับดูสารคดีเรื่องนี้จนจบไปหลายตอน
.
World’s Deadliest Snakes เป็นสารคดีจาก National Geographic ซึ่งเล่าเรื่องงูที่อันตรายจากทั่วโลก ทำให้เรารู้จักงูหลากหลายชนิดจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ถิ่นที่อยู่ การพรางตัว การล่าเหยื่อ ความร้ายกาจของมัน ทั้งพิษงูที่ออกฤทธิ์แบบต่าง ๆ จนทำให้เหยื่อตาย อย่างงูเห่าหรือหรือกะปะ นอกจากนี้ ยังมีงูที่ไม่มีพิษ แต่ก็มีกำลังบีบรัดเหยื่อจนกระดูกแหลกก่อนจะกลืนทั้งตัว เช่น งูเหลือมและงูหลาม เป็นต้น
.

ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะงูเป็นสัตว์ที่ไม่มีแขนไม่มีขาอย่างสิ่งมีชีวิตทั่วไป ธรรมชาติจึงให้ความสามารถอย่างอื่นชดเชย เช่น ความว่องไวในการเคลื่อนไหว หรือพิษที่เอาใช้ล่าเหยื่อและป้องกันตัว

.

สารคดีทำให้รู้ว่างูแต่ละชนิดมีนิสัยตามธรรมชาติแตกต่างกัน งูบางชนิดออกไล่ล่าเหยื่อ งูบางชนิดพรางตัวนิ่งเพื่อรอเหยื่อเข้ามาหา งูบางชนิดฉกกัดทุกอย่างที่เข้ามาใกล้เพื่อป้องกันตนเองจากอันตราย ขณะที่งูอีกหลายชนิดเลือกที่จะแกล้งตายหรือเลื้อยหนีเมื่อเจอมนุษย์ เพราะไม่กลัวถูกพวกเราทำร้ายเหมือนกัน
.
แม้งูจะเป็นสัตว์ที่น่ากลัวสำหรับใครหลายคน แต่งูก็มีความจำเป็นต่อการรักษาระบบนิเวศตามธรรมชาติ ช่วยควบคุมประชากรของสิ่งมีชีวิตบางอย่างไม่ให้มีมากจนเป็นอันตราย ยกตัวอย่างเช่นหนูซึ่งเป็นพาหะของโรคร้ายหลายอย่างในมนุษย์ ก็มีงูเป็นศัตรูตัวฉกาจที่หนูต้องคอยระวังจะเป็นเหยื่อ
.
World’s Deadliest Snakes จึงไม่ได้นำเสนอความร้ายกาจของงูเพียงด้านเดียว แต่ยังทำให้ผู้ชมได้รู้จักมันในอีกด้านที่เราลืมนึกถึง

.
ด้านที่บอกเราว่า แม้งูจะน่ากลัวเพียงใด แต่โลกที่ไม่มีงูนั้น … น่ากลัวกว่ามาก
.
สารคดี World’s Deadliest Snakes
ผู้สร้าง National Geographic
ช่องทางรับชม Disney+ hotstar
.
ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง
Blogdit บล็อกดิท https://www.blockdit.com/posts/612a5b951c61650ebe5b0a01
#ดูหนังดูละคร #World’sDeadliestSnakes #NationalGeographic #Disney+hotstar

, , , , , ,

ใส่ความเห็น

รวมเหตุการณ์จัดฉากแกล้งตายในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล

#บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์หลายเรื่อง

.

การจัดฉากแกล้งตายเป็นลูกไม้ที่ผู้สร้างมักใช้เป็นสีสันในภาพยนตร์ เพราะก่อให้เกิดความตื่นเต้นและประหลาดใจให้แก่ผู้ชมได้มาก โดยเฉพาะในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล (Marvel Cinematic Universe) ปรากฏเหตุการณ์จัดฉากแกล้งตายอยู่หลายครั้ง ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้

.
1. บักกี้ บาร์น (Bucky Barnes) เพื่อนสนิทของสตีฟ โรเจอร์ (Steve Rogers) หรือกัปตันอเมริกา ในภาพยนตร์เรื่อง Captian America : The First Avenger (2011) บักกี้พลาดท่าในการปะทะกับกลุ่มไฮดราบนรถไฟความเร็วสูง ร่างของเขาตกจากรถไฟลงสู่หุบเหวเบื้องล่าง ทำให้กัปตันอเมริกาคิดว่าบักกี้ตายแล้ว อย่างไรก็ตาม ในภาพยนตร์เรื่อง Captain America and the Winter Soldier (2014)  เนื้อเรื่องเฉลยว่าบักกี้ยังไม่ตาย เขาบาดเจ็บสาหัสและเสียแขนไปข้างหนึ่ง ทหารไฮดราจึงจับมาวิจัยในห้องทดลอง มีการสวมแขนไซเบอร์แมติก (Cybermatic) ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการต่อสู้ รวมทั้งให้ยาจอมพลังของ ดร.โซลา แก่บักกี้ ทำให้เขากลายเป็น เดอะ วินเทอร์โซลเยอร์ (The Winter Soldier) นักรบที่มีความแข็งแกร่งเทียบเท่ากัปตันอเมริกา คอยทำปฏิบัติการลับของไฮดรา กรณีนี้ วินเทอร์โซลเยอร์หรือบักกี้ไม่ได้จัดฉากแกล้งตายให้ตัวเอง แต่เป็นทหารไฮดราที่จัดฉากการตายให้บักกี้ ทั้งที่จริงแล้วแอบรักษาเขาไว้ใช้งานในฐานะสายลับมือสังหาร

.

2. นิค ฟิวรี่  (Nick Fury) ในเรื่อง Captain America and the Winter Soldier (2014)  เขาพบว่าหน่วยชีลด์ของตน ถูกแทรกซึมโดยพวกไฮดรา นิคไม่รู้ว่าจะไว้ใจใครได้บ้าง จึงแอบส่งข้อมูลลับให้กัปตันอเมริกา ก่อนนิคจะถูกลอบสังหารโดยวินเทอร์โซลเยอร์ ทุกคนคิดว่านิคตายแล้ว แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ นิคแอบใช้สารประกอบที่คิดค้นสำหรับควบคุมฮัค (แต่ไม่ได้ผลจึงเอามาใช้กับตนเอง) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นช้าลง เพื่อลวงศัตรูว่าตายแล้ว จนกระทั่งยาหมดฤทธิ์ นิคจึงฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง และต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กัปตันอเมริกา จนกำจัดไฮดราได้ในที่สุด

.

3. กรู๊ต (Groot) เป็นสิ่งมีชีวิตคล้ายต้นไม้ที่พูดได้และเดินได้ เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้พิทักษ์จักรวาลในภาพยนตร์เรื่อง Guardians of the Galaxy (2014)  วีรกรรมสำคัญที่สร้างความประทับใจต่อตัวละครนี้ คือ การที่กรู๊ตพลีกายกลายร่างเป็นต้นไม้ใหญ่ ห่อหุ้มเพื่อน ๆ ทีมผู้พิทักษ์ฯ เอาไว้ ไม่ให้ได้รับอันตราย จากการติดอยู่ในยานอวกาศที่กำลังตกสู่พื้น ทุกคนรอดชีวิต ยกเว้นกรู๊ต อย่างไรก็ตาม ร็อกเก็ต (Rocket) ซึ่งเป็นคู่หูของเขา ได้เก็บชิ้นส่วนกิ่งไม้ของกรู๊ตมาเพาะในกระถาง เพื่อระลึกถึงเพื่อนที่จากไป โดยหารู้ไม่ว่า กิ่งไม้ดังกล่าวจะเติบโตเป็นเบบี้กรู๊ท (Baby Groot) การตายของกรู๊ทจึงเป็นการจัดฉากโดยทีมเขียนบทภาพยนตร์ ที่ทำให้ผู้ชมสะเทือนใจในคราวแรก แต่แล้วก็เรียกรอยยิ้มกลับมาอีกครั้ง เมื่อทำให้ตัวละครที่ตายแล้วกลับมาในรูปลักษณ์ใหม่ได้ในตอนจบ

.
4. กาโมร่า (Gamora) ตัวละครหนึ่งในทีมผู้พิทักษ์จักรวาล เธอเสียชีวิตในภาพยนตร์เรื่อง Avengers: Infinity War (2018) เพราะถูกธานอส (Thanos) ผลักตกหน้าผา เพื่อแลกกับการได้ครอบครองมณีวิญญาณ (Soul Stone) อย่างไรก็ดี ในภาพยนตร์เรื่อง Avengers: Endgame (2019) ปรากฏว่าตัวละครกาโมร่าที่มีชีวิตอยู่ในปี ค.ศ.2012 ได้เดินทางข้ามเวลามาปรากฏตัวในปี ค.ศ.2019 และร่วมต่อสู้ในสงครามยับยั้งธานอส เธอเป็นอีกตัวอย่างการจัดฉากแกล้งตายโดยทีมเขียนบทภาพยนตร์ เพราะตัวละครดังกล่าวแม้จะตายไปแล้วในเส้นเวลาหนึ่ง แต่ก็มีตัวละครเดียวกันจากอีกเส้นเวลาหนึ่งมาแทนที่ เสมือนว่าตัวละครนี้ไม่เคยตายมาก่อน ทั้งยังมีบทบาทให้เธอดำเนินเรื่องต่อไปในอนาคต

.

5. มิสเตอริโอ้ (Mysterio) จอมมายาคู่ปรับของสไปเดอร์แมน จากภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man: Far from Home (2019) เขาถูกปราบได้และเหมือนว่าจะตายแล้วด้วยโดรนติดอาวุธของตนเอง แต่ปรากฏเหตุการณ์ในฉากกลางเครดิตท้ายภาพยนตร์ว่า สำนักข่าวเดลีบูเกิ้ล (Daily Bugle) ได้เผยแพร่คลิปบันทึกภาพสไปเดอร์ลงมือฆ่ามิสเตอริโอ้อย่างโหดเหี้ยม ซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริง คนที่ทำแบบนี้ได้ก็คือมิสเตอริโอ้ ซึ่งมีความสามารถในการปั่นหัวผู้คนด้วยข่าวลวง และนั่นแสดงว่าเขายังไม่ตาย อย่างไรก็ตาม คนทำคลิปดังกล่าวอาจเป็นลูกทีมคนใดคนหนึ่งของมิสเตอริโอ้ หรืออาจจะเป็นคลิปที่มิสเตอริโอ้ทำขึ้นเองก่อนตายก็เป็นได้  ดังนั้น ตัวละครนี้จึงยังกล่าวไม่ได้ 100% ว่าเขาจัดฉากแกล้งตายหรือว่าได้ตายไปแล้วจริง ๆ ในภาพยนตร์   

.

6) โลกิ (Loki) เทพเจ้าแห่งการหลอกลวง น้องชายของเทพเจ้าสายฟ้าอย่างธอร์ (Thor) น่าจะเป็นตัวละครที่ปรากฏฉากการตายแล้วกลับมาได้บ่อยครั้งที่สุดในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล    

……….. 6.1 เริ่มจากภาพยนตร์เรื่อง Thor (2011) โลกิพยายามแสดงให้กษัตริย์โอดิน (Odin) เห็นว่าตนก็มีความสามารถคู่ควรบัลลังก์ปกครองแอสการ์ด (Asgard) ไม่ต่างไปจากพี่ชาย แต่เมื่อเห็นว่าทั้งพ่อและพี่ก็ดูจะไม่เชื่อใจอยู่ดี โลกิจึงทิ้งตัวเองให้ตกลงไปยังรูหนอนในห้วงอวกาศ เหมือนว่าตนได้ตายไปแล้ว  นี่เป็นการจัดฉากแกล้งตายครั้งแรกของโลกิ เพราะเขารู้ว่ารูหนอนได้พาโลกิไปซ่อนตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งในจักรวาล จากนั้นในภาพยนตร์เรื่อง The Avengers (2012) โลกิได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งที่โลก เพื่อตามหาเทซเซอแรกต์ (Tesseract) และนำไปให้ธานอส ทว่าเหล่าอเวนเจอร์ก็ปกป้องเทซเซอแรกต์และโลกเอาไว้ได้ ธอร์จึงจับโลกิไปคุมขังไว้ที่แอสการ์ด

………. 6.2 ต่อมาในภาพยนตร์เรื่อง Thor: The Dark World (2013) ธอร์ต้องปล่อยตัวโลกิชั่วคราวเพื่อให้เขาพาธอร์ออกจากแอสการ์ด ธอร์ได้ต่อสู้กับดาร์กเอลฟ์ (Dark Elves) โลกิจึงเข้ามาช่วยและถูกแทงจนตาย ธอร์เสียใจมาก โดยไม่รู้ว่านั่นเป็นการจัดฉากแกล้งตายครั้งที่ 2 ด้วยเวทมนตร์ลวงตาของโลกิ

……….. 6.3 โลกิแอบกลับมายังแอสการ์ดและสะกดโอดินเอาไว้ ขณะที่ตนก็แปลงกายสวมรอยเป็นโอดินแล้วแอบปกครองแอสการ์ด  จนกระทั่งถูกธอร์จับได้ในภาพยนตร์เรื่อง Thor: Ragnarok (2017) ทั้งคู่ออกผจญภัยด้วยกันอีกครั้ง จนกระทั่งในภาพยนตร์เรื่อง Avengers: Infinity War (2018) โลกิพยายามลอบสังหารธานอสแต่ไม่สำเร็จ ธานอสจึงบีบคอโลกิจนตาย พร้อมกับพูดว่า ครั้งนี้ตายจริง โลกิจะไม่มีโอกาสกลับมาได้อีก 

…………. 6.4 อย่างไรก็ตาม ในภาพยนตร์เรื่อง Avengers: Endgame (2019) เหล่าอเวนเจอร์ได้เดินทางข้ามเวลาจากปี ค.ศ.2019 มาชิงเทซเซอแรกต์ในปี ค.ศ.2012 แต่ล้มเหลว โลกิในปี ค.ศ.2012 อาศัยจังหวะชุลมุนแย่งชิงเทซเซอแรกต์และเปิดประตูมิติพาตนเองหนีไปได้ ก่อนโลกิคนนี้ถูกจับกุมโดยองค์กรทีวีเอ (TVA : Time Variance Authority) และมีบทบาทเดินเรื่องในซีรีส์เรื่อง LOKI (2021) โลกิตายแล้วกลับมาได้จึงเป็นการจัดฉากแกล้งตายโดยทีมเขียนบทภาพยนตร์ Avengers: Endgame นั่นเอง

.
ยังมีอีกหลายตัวละครที่ตายแล้วกลับมาได้  แต่วันนี้นึกออกแค่นี้

.
การจัดฉากแกล้งตายที่มีผู้เขียนบทภาพยนตร์อยู่เบื้องหลังย่อมนำพาความบันเทิงมาสู่ผู้ชม แต่การเขียนบทเพื่อจัดฉากแกล้งตายในชีวิตจริงกลับชวนหดหู่อย่างไม่น่าให้อภัย

.
ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง

เว็บบล็อกนกบินเดี่ยว

#ดูหนังดูละคร

, , ,

ใส่ความเห็น

อิ่มริมทางฉบับกรุงเทพฯ

“อิ่มริมทางฉบับเอเชีย (Sreet Food Asia)” เป็นสารคดีแบ่งเล่าเรื่องเป็นตอน ๆ แต่ละตอนหยิบเอาเมืองเด่นของแต่ละประเทศในเอเชียมาถ่ายทอดเรื่องราวของร้านอาหารริมทางซึ่งปรากฏในวิถีชีวิตของผู้คนแต่ละท้องที่ ผมเพิ่งได้ดูตอนเดียวคือตอน “กรุงเทพฯ ประเทศไทย” ก็พบว่าน่าสนใจทีเดียว
.
อาหารริมทางที่สารคดีเลือกนำเสนอเป็นเนื้อหาหลักในตอนนี้ก็คือร้านเจ๊ไฝ ร้านอาหารที่โด่งดังจนได้รับเครื่องหมายมิชลินสตาร์ มีการเล่าความเป็นมาตั้งแต่แรกเริ่ม จนกระทั่งประสบความสำเร็จด้วยเมนูที่มีชื่อเสียง อาทิ ผัดไท ไข่เจียวปู และต้มยำแห้ง
.
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวแทรกอย่างก๋วยเตี๋ยวเจ้าดังแถวสุขุมวิท 38 ของคุณสุเมธ และร้านข้าวแกงเจ๊กปุ๊ยย่านเยาวราช แม้จะไม่ได้มีพื้นที่ออกอากาศเท่าร้านเจ๊ไฝ แต่ก็พอทำให้เราเห็นภาพวิถีชีวิตของคนที่ผูกพันกับร้านอาหารเหล่านี้ เช่น ลูกค้าที่นั่งเก้าอี้แดงกินข้าวแกงริมถนนอย่างชำนาญ หรือลูกค้าที่ยอมจ่ายค่ารถไป-กลับ 300 บาท เพื่อมากินบะหมี่ราคา 60 บาท เป็นต้น
.
สารคดีแสดงให้เห็นว่าร้านอาหารริมทางเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คน และเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ร้านกลับต้องเผชิญปัญหาคือกฎหมายควบคุมดูแลทางเท้าที่เห็นว่าร้านลักษณะนี้รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ และสร้างความสกปรกให้แก่พื้นที่
.
สารคดีไม่ได้ยกเอาร้านที่เป็นปัญหามาเล่า แต่ก็แสดงให้เห็นการปรับตัวของบางร้านเพื่อให้ขายต่อไปได้ เช่น ร้านเจ๊ไฝที่ย้ายไปอยู่ในห้องแถวมานับสิบปีแล้ว หรือร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าดังที่ย้ายจากที่เดิมไปเปิดที่ใหม่แล้วก็ยังมีลูกค้าตามไปกิน
.
ดูสารคดีชิ้นนี้ก็กระตุกต่อมคิดไม่น้อย ต้องยอมรับว่าความสะอาดของบ้านเมืองและการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะเป็นหน้าที่ที่ทางการต้องดูแล แต่วิถีชีวิตของผู้คนและเสน่ห์ในสายตานักท่องเที่ยวก็เป็นข้อดีของร้านอาหารริมทางไปพร้อมกัน คำถามคือจุดร่วมที่อยู่ตรงกลางระหว่างข้อดีและข้อเสียของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน ใช่การจัดโซนนิ่งให้แก่ร้านริมทาง การกำหนดเวลาเปิดปิด หรือวิธีการใด
.
กฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์และวิถีชีวิตอันสะท้อนวัฒนธรรมของผู้คนควรจะประนีประนอมและร่วมทางไปด้วยกันได้ในความเป็นจริง
.
สารคดี “อิ่มริมทางฉบับเอเชีย (Sreet Food Asia)” มีอีกหลายตอน รับชมได้ทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix)
.
ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง
เฟซบุ๊กนกบินเดี่ยว https://www.facebook.com/nokbindeaw
#ดูหนังดูละคร #StreetFoodAsia #สารคดี #อิ่มริมทางฉบับเอเชีย

, , ,

ใส่ความเห็น

นิทานโควิด – เตือนจิตเติมใจในยุคนิวนอร์มัล

“นิทานโควิด” เป็นหนังสือรวมบทร้อยกรองเล่มล่าสุดที่เขียนโดย ชมพร เพชรอนันต์กุล นักกลอนผู้มีลีลาการใช้คำที่แยบคายและเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน เมื่อผนวกกับวัตถุดิบคือเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคนิวนอร์มัล จึงทำให้เกิดบทกลอนที่สะท้อนภาพสังคมและล้อเลียนเสียดสีพอแสบ ๆ คัน ๆ

ภาพนี้ไม่ได้ระบุแอตทริบิวต์ alt, ชื่อไฟล์ของไฟล์นี้คือ e0b897e0b89ae0b897e0b8a7e0b899e0b8a7e0b8a3e0b8a3e0b893e0b881e0b8a3e0b8a3e0b8a1-1.png
นิทานโควิด โดย ชมพร เพชรอนันต์กุล


อย่างบทร้อยกรอง ๒๘ สำนวนแรก ที่ผู้เขียนจัดกลุ่มเรียกว่า “เซียมซีโควิด” ใช้รูปแบบการนำเสนอแบบกลอนเซียมซี ที่มีคำทำนายอนาคต แต่เมื่ออ่านเนื้อหาแล้วจะพบว่า เป็นการสะท้อนเหตุการณ์ช่วงโควิดระบาดในเมืองไทย (และทั่วโลก) มากกว่าจะเป็นการทำนายทายทักจริง ๆ หรือหากจะเป็นการทำนาย ก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลให้เข้าใจได้ง่าย ๆ อยู่แล้ว เช่น
.
ใบที่สิบหกพกเจลเป็นนิสัย
ล้างมือบ่อยปลอดโรคพบโชคชัย
สวมหน้ากากอนามัยคลายกังวล
(ใบที่ ๑๖ – หน้า ๒๔)
.
สงสารหมอพยาบาลทำงานหนัก
พึงผ่อนพักอยู่บ้านพานสุขศรี
เผลอเล่นเฟซเล่นไลน์เชื่อมไมตรี
จะจ่ายหนี้ค่าไฟหลายพันเอย
(ใบที่ ๔ – หน้า ๑๓)
.
แม้เรื่องราวในบทร้อยกรองจะพูดถึงการใช้ชีวิตที่ผิดไปจากปกติเนื่องจากโรคระบาด แต่ผู้เขียนก็พยายามสะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีอารมณ์ขัน ซึ่งสะท้อนแนวทางการมองโลกในอีกแบบที่น่าสนใจ ในเมื่อความเป็นจริงไม่น่าพิสมัย ก็อยู่กับมันให้ได้ แล้วหาความสุขจากสิ่งรอบตัวเหล่านั้น ดังตัวอย่างบทร้อยกรองที่เล่าเรื่องของชายที่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปซื้อของ ก็ต้องเจอปัญหาที่จะมองให้ขำ ก็ขำได้ไม่น้อย
.
เมื่อ “ฮิปปี้” จะต้องออก ไปนอกบ้าน
หลังงุ่นง่านงุดงุดเผลอหงุดหงิด
อพิโธ่ อพิถัง หนังชีวิต
สตาร์ทรถไม่ติด…ชาคริตเซ็ง !
(ฉากที่ ๔ – หน้า ๔๗)
.
นิทานโควิด ใช้กลอนฉันทลักษณ์เป็นเครื่องมือเล่าเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงล็อกดาวน์ในปี 2563 ได้อย่างน่าสนใจ เนื้อหายังเตือนสติให้ทุกคนอยู่ในความไม่ประมาท จึงเหมาะจะอ่านเพื่อให้ขวัญและกำลังใจยังคงอยู่กับเราทุกคน อย่างน้อยเราก็จะยิ้มได้ในสถานการณ์ที่มีภัยซึ่งมองไม่เห็นอยู่รอบตัวอย่างขณะนี้
.
ชื่อหนังสือ “นิทานโควิด”
ผู้เขียน “ชมพร เพชรอนันต์กุล”
ประเภท “รวมบทร้อยกรอง”,”กวีนิพนธ์”
สำนักพิมพ์ “มหาวิทยาลัยรังสิต”
90 หน้า, ราคา 100 บาท
พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2563



, ,

ใส่ความเห็น

มู่หลาน : ค่านิยมความดีแห่งวีรสตรีแดนมังกร

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์
.
มู่หลานเป็นตำนานจีนว่าด้วยหญิงสาวที่ปลอมตัวเป็นชายเพื่อไปรบในสงครามแทนพ่อ จนได้รับยกย่องเป็นวีรสตรี มีการถ่ายทอดกันหลายรูปแบบทั้งงิ้ว หนังสือ การ์ตูน และล่าสุด ได้สร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด ชูจุดเด่นคุณธรรมความดี 4 ประการ ได้แก่ ภักดี กล้าหาญ ซื่อสัตย์ และกตัญญู ความดีเหล่านี้ซึ่งปรากฏในตัวละครเอกของเรื่องอย่างเด่นชัด

.


.
ภักดี – มู่หลานมีความภักดีต่อกองทัพและองค์จักรพรรดิจีน จึงร่วมต่อสู้ปกป้องแผ่นดินจากการรุกรานของชนเผ่าต่างชาติ แม้ในยามที่ตนถูกขับออกจากกองทัพ และมีข้าศึกพยายามจะเข้ามาซื้อใจให้ไปอยู่ด้วย แต่มู่หลานยังคงภักดีต่อองค์จักรพรรดิ จึงยอมเสี่ยงตายกลับเข้ากองทัพเพื่อแจ้งข่าวทั้งที่ตนมีอาญาติวตัวก็ตาม ความภักดีนี้เป็นสิ่งที่มู่หลานได้รับการปลูกฝังจากพ่อของตนมาโดยตลอด
.
กล้าหาญ – มู่หลานมีความกล้าหาญอย่างปฏิเสธไม่ได้ เห็นได้จากการปลอมตัวเป็นชายเข้าร่วมรบโดยไม่เกรงอันตราย แม้ในเรื่องจะแสดงให้เห็นฉากมือสั่นเมื่อพูดถึงสงคราม แต่เมื่ออยู่ในสนามรบ มู่หลานก็ไม่ใช่คนเอาตัวรอดหนีทัพ กลับเป็นคนที่ต่อสู้ในแนวหน้าอย่างห้าวหาญ ปกป้องชีวิตเพื่อนพ้องและรักษาแผ่นดินเกิด

.
ซื่อสัตย์ – คุณธรรมข้อนี้เป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ใช้เป็นประเด็นขัดแย้งในใจตัวละครเอก เพราะมู่หลานรู้ตัวเสมอว่าตนโกหกกองทัพว่าเป็นผู้ชาย สิ่งนี้ทำให้มู่หลานไม่เป็นตัวเอง และไม่ได้แสดงพรสวรรค์ด้านการรบของตนออกมาได้อย่างเต็มที่ (นักรบที่ซื่อสัตย์เท่านั้นที่จะแสดงผสานพลังปราณในกายออกมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ) จนกระทั่งมู่หลานได้เรียนรู้และเลือกที่จะซื่อสัตย์ต่อตนเอง ด้วยการยอมรับในสิ่งที่เป็น และเปิดเผยความเป็นหญิงให้กองทัพรู้ โดยไม่สนใจว่าคนจะยอมรับหรือตนจะต้องโทษหรือไม่ อย่างไรก็ดี ความซื่อสัตย์ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงใจของมู่หลาน และทำให้เธอได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นที่ยอมรับจากคนทั้งแผ่นดินในที่สุด
.
กตัญญู – มู่หลานกตัญญูต่อครอบครัว เมื่อรู้ว่พรสวรรค์ด้านการเป็นนักรบของเธอจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างเกียรติให้วงศ์ตระกูล (ผู้หญิงต้องออกเรือนนับเป็นเกียรติ ผู้หญิงรบเก่งจะไม่มีผู้ชายกล้าแต่งงานด้วย) เธอก็ยินดีที่จะทำ แม้จะฝืนใจก็ตาม รวมทั้งการออกรบแทนพ่อ เพราะยอมไม่ได้ที่จะพ่อซึ่งป่วยต้องมาออกรบ ก็นับเป็นการแสดงความกตัญญู (แม้จะไม่มีใครเข้าใจในตอนแรกก็ตาม) รวมทั้งการปฏิเสธตำแหน่งราชองครักษ์ที่องค์จักรพรรดิเสนอ เพราะต้องการกลับมาดูแลครอบครัว ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าลาภยศสรรเสริญก็ไม่อาจสั่นคลอนจิตใจของมู่หลานให้คลอนแคลนไปจากความกตัญญูได้ ความกตัญญูของมู่หลานเป็นสิ่งที่คนจีนยกย่อง แม้แต่องค์จักรพรรดิที่ได้ชื่อว่าเป็นโอรสแห่งสวรรค์ก็ยังต้องยอมรับการตัดสินใจของมู่หลาน.ค่านิยมความดีที่ปรากฏผ่านคุณธรรมทั้ง 4 ประการ สร้างให้มู่หลานกลายเป็นวีรสตรีที่คนทั้งแผ่นดินยอมรับ แม้ว่าเรื่องของเธอจะเป็นตำนาน แต่ความดีต่าง ๆ ล้วนสอนและน้อมปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นจริงได้กับคนไม่จำกัดเชื้อชาติและภาษา
.
ไม่เว้นแม้คนไทยบนแผ่นดินไทยก็ตาม
.
ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง
เฟซบุ๊ก Nok Theerawat
#ดูหนังดูละคร #มู่หลาน #mulan

,

ใส่ความเห็น